ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การอารตีตามแบบฮินดูโบราณ

ช่วงนี้กำลังสนใจ เรื่องเกี่ยวกับฮินดู ก็เลยคัดลอกพิธี ที่น่าสนใจมา
Credit : Hindumeeting.com : พี่หริทาส


การอารตีนั้น จะเรียกว่าอารตี หรือในทางศาสนพิธีจะเรียกว่า นีราชนมฺ การนีราชนมฺ ถ้าพอจะเทียบกับพิธีพราหมณ์ของฝ่ายไทยคือการเวียนเทียนสมโภช ในตอนท้ายของพิธีนั่นเอง

การอารตี หรือนีราชนมฺ ตามประเพณีฮินดูอาจแบ่งกว้างๆออกได้เป็นสองอย่าง คือ
1.สนฺธยารตี คือการอารตี ที่กระทำในเวลาสนธยา ได้แก่ เวลาเช้า กับพลบค่ำ ทางเทวสถานเทพมณเฑียร ฮินดูสมาช กำหนดให้เป็นเวลา07.00น.และ 19.00น.ของทุกวัน การสนธยาอารตีจะต้องกระทำในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทุกแห่งไป และมักจะกระทำหลังจากการชุมนุมสวดมนตร์หรือการทำสันธโยปัสนา(ภาวนาประจำวัน) ส่วนการกระทำในบ้านเรือนซึ่งมีการประดิษฐานเทวรูปนั้น ได้มีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย นักบวชสวามีบางรูปเห็นว่าไม่ควรทำ เพราะบ้านเป็นที่อาศัยของคฤหัสถ์ชนย่อมมีการกระทำบาปเนืองๆ แต่บางท่านเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่โดยทั่วๆไปถ้าหากมีสถานที่บูชาอันเฉพาะเป็นสัดส่วน ก็น่าจะสามารถกระทำได้ไม่ผิดอะไร
2.การอารตี หลังการประกอบพิธี การอารตีประเภทนี้จะกระทำหลังจากการประกอบพิธีบูชาตามวาระโอกาสต่างๆ หรือหลังจากการสวดมนตร์ การชุมนุมสวดมนตร์ หรือการที่อาจารย์พราหมณ์นักบวชได้สวดอ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ปุราณะต่างๆ รามายณะ ภควัทคีตา รามจริตมานัส เป็นต้น หรือการทำอภิเษกสมโภชนักบวช คุรุ สิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือการต้อนรับผู้มาเยือน การต้อนรับเจ้าบ่าว นักบวช คุรุ(กระทำเบื้องหน้าผู้ที่เราต้อนรับ) ฯลฯ การอารตีเช่นนี้ วิธีการคล้ายแบบแรก แต่ไม่กำหนดระบุเวลา
อุปกรณ์ในการทำอารตี


1.ตะเกียงอารตี ตะเกียงอารตีมีหลายรูปแบบ แต่ตามประเพณีดั่งเดิมใช้ถาด รองด้วยข้าวสาร ใบพลูหรือกลีบดอกไม้ หรือผงกำยานหรือกำยานเปียก(เพื่อไม่ให้ถาดใหม้)วางด้วยการบูรแท่งหรือก้อน ตะเกียงนี้เรียกว่า กรฺปูรฺอารตี จุดไฟที่การบูร อันนี้เป็นแบบโบราณประเพณี ถือว่าไฟจากการบูรเป็นไฟสะอาด มีกลิ่นหอม
ประเภทอื่นๆ คือใช้ตะเกียงที่มีหลุมจำนวนที่นิยมคือ 5 หลุม ใช้สำลีปั้นก้อน ใช้เนยเหลว(ฆี)เป็นเชื้อเพลิง บางที ก็ใช้ 9 หลุม หรือมากกว่านั้น หรือใช้ชนิดหลุมเดียวก็ได้ หรือนำประทีบ 1 ดวงใส่ถาดก็ได้
2.ปัญจปาตร หรือถาด ไว้รองรับตะเกียงเมื่ออารตีเสร็จแล้ว
3.ภาชนะใส่น้ำพร้อมช้อน หรือสังข์ที่ใช้บรรจุน้ำได้
4.ธูป ตามคติฮินดูใช้ 5 ดอก (เหมือนจำนวนประทีป) เพราะเลขห้า หมายถึง ธาตุ5
ตามคติฮินดู (ไฟ(อัคนิ) น้ำ(อาโป) ลม(วาโย) ดิน(ปฤถิวี) อวกาศ)
5.ดอกไม้ มีหรือไม่ก็ได้
6.ระฆัง (ฆันฏา) ชนิดถือสั่นได้สะดวก

วิธีการทำอารตี

1.ก่อนทำให้อาบน้ำ สนานกาย เข้ามายังห้องพิธี เทน้ำจากช้อนเล็กน้อยในอุ้งมือขวา แล้วจิบน้ำจากโคนข้อมือขวา 3 ครั้ง เรียกว่าการอาจมานํ(เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ การอาจมานํนี้ กระทำก่อนการทำพิธีต่างๆรวมทั้งการสวดมนตร์ละภาวนา)
ครั้งที่ 1 สวดว่า โอมฺ เกศวาย นมะ(จิบ)
ครั้งที่ 2 สวดว่า โอมฺ นารายณาย นมะ(จิบ)
ครั้ง ที่ 3 สวดว่า โอมฺ มาธวาย นมะ(จิบ)
จากนั้นรินน้ำเล็กน้อยล้างมือ สวดว่า โอมฺ หฺฤษีเกศาย นมะ
2.สวดมนตร์เลือกบทที่ชอบหรือสวดเป็นประจำ หรือบทที่บูชาพระอันประดิษฐาน ณ ที่นั้น ต่อหน้าที่บูชา
3.เป่าสังข์ สามครั้ง(ถ้ามี ไม่มีไม่เป็นไร เพราะไม่จำเป็นเท่าใดนัก)
4.จุดธูปขึ้น เริ่มการอารตี โดยสั่นกระดิ่งในมือซ้าย มือขวาถือธูปวนไปรอบๆ เทวรูปตามเข็มนาฬิกา เริ่มที่พระคเณศก่อน(ถ้ามี) จากนั้นองค์ที่เป็นประธาน จนครบทุกองค์ องค์ละสามรอบ ปักธุปไว้ในที่บูชา ขณะถวายธูปสวดว่า(มนตร์ของเทพองค์นั้นตามด้วย - ธูปํ สมรปยามิ)
5.จุดตะ เกียงอารตี เริ่มจากพระคเณศก่อนเช่นกัน ในคัมภีร์นิตยฏรมฺบอกว่า การอารตีให้เริ่มจากที่พระบาท วนสามรอบ ที่พระอุระ วนสามรอบ ที่พระพักตร์ วนสามรอบ ทั้งพระองค์สามรอบ หรือจะ วนที่องค์พระองค์ละ 9 รอบก็ได้ จนครบทุกองค์ ระหว่างนี้จะสวดบท(กรฺปูรเคารํ กรุณาวตารํ ฯลฯ ก็ได้) หรือจะสวด ว่า ตามด้วย - นีราชนํ ทรฺศยามิ หรือ การปูร อารตีกยํ ทรฺศยามิ สมรปยามิ
6.เมื่อวนจนครบแล้ว ให้วางลงในภาชนะ ถาดรองรับ นำสังข์หรือช้อนที่มีน้ำวนสามรอบ รอบๆตะเกียงนั้น แล้วรินน้ำนิดนึงทุกรอบจนครบสาม สวดมนตร์ถวาย ว่า(มนตร์ประจำองค์)-ตามด้วย - มงฺคลอารติกยํ สมรปยามิ ใช้มือขวาโบกควันศักดิ์สิทธิ์เหนือไฟเบา เข้าถวายองค์เทพ สามครั้ง
7.จากนั้นจึงค่อย เอามือทั้งสองโบกควันไฟศักดิ์สิทธิ์ เข้าสู่ตัวเอง โดยโบกเหนือไฟ แล้วแตะที่ใบหน้า ดวงตาหรือหน้าผาก เป็นพรที่พระเป็นเจ้าประทานให้
8.ถือ ดอกไม้(ถ้ามี)หรือพนมมือ กล่าวสวดมนตร์ หากสวดสันสกฤตไม่ได้ ให้อธิษฐานในภาษาไทย สวดขอพรความสวัสดี และขอให้พระเป็นเจ้าอภัยในโทษานุโทษต่างๆที่เรากระทำเรียกว่า การกษมารปณํ
แล้ว สวดขอขมาที่อาจทำพิธีพลั้งพลาด ขออัญเชิญท่านกลับ ให้มีแต่ความสวัสดีต่างๆ เรียกว่า การวิสรจนํ
9.จากนั้นก้มกราบสามครั้ง หรือกราบอัษฎางคประดิษฐ์
10.สวดแผ่เมตตาแด่ สรรพสัตว์ สวดว่า
โอมฺ สรฺเว ภวนฺตุ สุขินะ
สรฺเว สํตุ นิรามยาะ
สรเว ภทฺรานิ ปศฺยนฺตุ
มา กศฺจิทฺ ทุขะภาคฺภเวตฺ
โอ มฺ ศานติะ ศานติะ ศานติะ.
หรืออธิฐานในภาษาไทยถึงความหมายของมนตร์นี้ ว่า
โอม สิ่งทั้งปวงจงเป็นสุข สิ่งทั้งปวงจงปราศจากทุกข์ สิ่งทั้งปวงจงพบแต่ความดีงาม ขออย่ามีส่วนแห่งทุกข์เลย โอม ศานติ ศานติ ศานติ
เป็นอันเสร็จการอารตี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น