ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขายรถ ให้กลุ่มผู้รับซื้อรถยนต์ - ก็เต๊นท์นั่นแหละ

หลังจากหลายๆๆๆๆปีก่อน เขียนถึงการเตรียมตัวซื้อรถมือสอง จากโครงการรถคันแรก

เตรียมซื้อรถมือ 2 จากผู้ใช้สิทธิรถคันแรก

เวลาผ่านไป ความต้องการด้านยานพาหนะก็เปลี่ยนไปตามวัย และ เทคโนโลยี
คราวนี้อยากจะขายรถบ้างละ

รถคันนี้ เป็นรถที่ผมใช้งานอยู่ โดยซื้้อรถใหม่มา
รถคันที่ว่านี้เป็น NISSAN Juke 1.6 E ปี 2014 ออกมาราวๆ ก.พ. 2014
ช่วงที่รถออก จะมีรุ่นให้เลือกอยู่ 2 รุ่น
1.6 V ซึ่งเป็นตัว Top และ 1.6 E เรียกว่า รอง Top หรือ รุ่นต่ำ ก็แล้วแต่จะเรียกขานกัน

ส่วนที่ต่างกัน ภายนอกก็เป็นพวกสปอยเลอร์


1.6 V ก็จะมีหางหลัง 1.6 E จะไม่มีหางหลัง
แต่ของผม 1.6 E จะมีหางหลังที่ศูนย์ NISSAN ติดมาให้เสร็จสรรพ

ส่วนที่ต่างกันภายใน ก็ เบาะหนัง กับ สีแดง


โดยส่วนตัวไม่ชอบเลย ภายในสีแดงๆแบบนี้น่ะ เลยซื้อ 1.6 E มาใช้

ส่วนอื่นๆ ก็เหมือนกันหมด ทั้งเครื่องยนต์ เครื่องเสียง อุปกรณ์ความสะดวกต่างๆ

กลับเข้ามาเรื่องของการขายรถคันนี้ ให้กลุ่มผู้รับซื้อรถ เรียกง่ายๆ ว่า ขายให้เต๊นท์ นั่นแหละ
บางท่านอ่านแล้ว เกิดคำถามในใจ

"ทำไมไม่ขายให้คนที่ซื้อรถเพื่อใช้งานโดยตรงล่ะ ??"

ผมมี 2 เหตุผล ครับ ซึ่งได้ลงขายทาง Internet แล้ว และมีผู้สนใจมาดู และทดลองขับ
เหตุผลที่ได้รับมาก็มีดังนี้
"ชอบนะ แต่ว่า รถมันสูงไปหน่อย" - สงสัยรายนี้จะดูหลายรุ่น แบบรถเก๋ง แล้วมาเทียบกับ SUV
"ว๊า....ติดแก๊สมาแล้ว" - เวลาขายผมก็ลงรายละเอียดครบนะครับ
"คิดว่าเป็นรุ่นทอป" - อันนี้ ดูรูป อ่านรายละเอียดมา แต่พอผมบอกว่า ตอนออกรถมี 2 รุ่นนะ ตัวนี้ไม่ทอป ก็เลยตอบมาว่า อยากได้ตัวทอป !!

3 รายนี้ ได้ทดลองขับ
ซึ่งบอกตรงๆว่า ผมไม่ชอบให้คนมาขับรถผม แบบการทดลองขับเท่าไร - แต่เรื่องนี้ต้องทำใจ
อีกเหตุผล ก็คือ ผมต้องรีบใช้เงินในธุรกิจของผม - อันนี้ ทำใจอยู่แล้ว ว่าราคาโดนกดแน่ๆ

สุดท้ายเลยตัดสินใจขายให้เต๊นท์ดีกว่า รวดเร็ว ไม่จุกจิกให้บั่นทอนสมอง และอารมณ์

รถคันนี้ ไม่มีชน ไม่เคยจม หรือลุยน้ำ
ติดแก๊สมาแล้ว ตั้งแต่วิ่งมาราวๆ 5000 กม. แรก ระบบหัวฉีด จากร้านติดที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง
รถวิ่งมาแล้ว 72,XXX กม.

มีเต๊นท์มาดู 3 ราย ในวันเดียวกัน เวลาต่อเนื่องกัน
สรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้

1. ตอนเสนอราคาก่อนมาดูรถ ให้ราคา และรับราคาได้ ตามที่เปิดราคาไว้
2. ทั้ง 3 ราย ไม่ทดลองขับรถเลย ดูแต่ตะเข็บรถ ฟังการสตาร์ทเครื่อง
3. ทั้ง 3 ราย ถามว่า เข้าศูนย์ไหม ที่ระยะกี่ กม. - อันนี้ ท่านๆ เริ่มทราบแล้วใช่ไหม ??
4. ติดแก๊ส ลงเล่มไหม ?? - อันนี้ ท่านๆ น่าจะทราบชัดเจนขึ้นแล้วนะครับ
5. ถอดแก๊สออก ก็ขายอุปกรณ์ไม่ได้ ต้องถอดทิ้งอย่างเดียว

จากการพูดคุย ตกลง สรุปราคา จนเสร็จการเซ็นเอกสาร และจ่ายเงิน
สรุปอีกครั้ง สำหรับผู้ที่จะซื้อรถมือสองจากเต๊นท์

1-1. มาถึง ดูรถจริงๆ ก็จะกดราคาลงอีก 10 % แม้ตอนแรกจะบอกว่า สู้ราคาที่เรากำหนดได้ ถ้าไม่มีชนมา และสภาพตามรูปที่ส่งให้ - ถ้าจะขายให้เต๊นท์ ก็ต้องทำใจเรื่องนี้ให้ได้

2-1. เต๊นท์จะมีการ "ชง" รถอยู่แล้ว โดยจะมีช่างประจำ หรือ มือรับจ้าง ให้ปรับปรุงรถให้อยู่สภาพพอใช้งานได้ ในกรณีช่วงล่างรถ มีปัญหา

3-1. ท่านอาจจะได้รถที่กรอไมล์ - อันนี้ผู้ขายทำผิดกฎหมายนะครับ
การถามว่า เข้าศูนย์ที่ไหน ระยะกี่ กม. - รถผมเข้าศูนย์ครั้งสุดท้ายที่ 30,000 กม. ที่ NISSAN สาขา xxxxxx
ซึ่งทางเต๊นท์ ก็จะเช็คที่ศูนย์นั้นๆ แล้จะทำการกรอไมล์ ให้ดูเหมือนรถวิ่งมาน้อย
ตอนนี้ เวลานี้ วินาทีนี้ .... รถคันนี้ อาจจะไมล์อยู่ที่ 3 หมื่นต้นๆ ก็ได้

4-1. เต๊นท์จะทำการถอดชุดแก๊สออก ปรับให้ดูเหมือนรถไม่เคยติดตั้งแก๊สมา
ถอดถังแก๊สออก ทำการอุดรู ที่ท้ายรถ ที่ตำแหน่งที่ถูกเจาะ
เปลี่ยนท่อไอดี กรณี รถรุ่นที่ต้องเจาะคอท่อไอดี
เพราะเล่มทะเบียน ไม่ได้จดติดตั้งแก๊ส

สำหรับผู้ที่จะดูรถมือ 2 แบบเครื่องเบนซิน ต้องก้มๆ มองใต้ท้องด้านหลัง
หากพบการอุดรู หรือ ร่องรอยการติดหรือเจาะเพื่อยึดท่อเติมแก๊ส ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามท่อไอเสีย
ก็ให้สันนิษฐานไว้ว่า อาจจะเคยติดแก๊สมา ให้มองช่องยางอะไหล่ หรือด้านในกระโปรงท้าย

5-1. อย่างน้อย ถังแก๊สก็ขายได้ครับ แบบขี้หมู ขี้หมา ก็ 2-3 พันละ

ทั้งหมด ทั้งมวล ไม่ได้หมายความว่า เต๊นท์รถทั้งหมดจะเป็นแบบนี้นะครับ
เต๊นท์คุณธรรม น่าจะยังคงมี แต่ก็เข้าใจว่า
ขึ้นอยู่กับรถแต่ละคันที่เขาได้มาด้วย ที่จะทำให้เขามีคุณธรรมจริงๆไหม

ใช่ไหมเพ่ !!


วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มาตรฐาน CE คืออะไร


เครื่องหมาย CE ย่อมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “Conformite Europeene ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำใน ภาษาอังกฤษคือ “European Conformity” เดิมทีใช้เครื่องหมาย EC แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องหมาย CE อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2536

เครื่องหมาย CE ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าเป็นเครื่องหมายที่แสดงการรับรองจากผู้ผลิต (Manufacturer’s Declaration) ว่าสินค้านั้น มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรป การมีเครื่องหมาย CE กำกับบนสินค้าจะทำให้สินค้านั้นสามารถวางจำหน่าย และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีในเขตเศรษฐกิจยุโรป หรือ European Economic Area (EEA) ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป หรือ European Community (EU) และ สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ European Free Trade Association (EFTA) ยกเว้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมาชิกแต่ละประเทศจะดำเนินการออกกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป หรือ EC Directives ที่กี่ยวข้องกับการใช้เครื่องหมาย CE



สินค้าที่อยู่ในข่ายต้องใช้เครื่องหมาย CE มีสินค้า 23 กลุ่ม ซึ่งจะต้องมีเครื่องหมาย CE จึงจะสามารถวางจำหน่ายและเคลื่อนย้ายภายในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ได้ ซึ่งรวมถึงสินค้านำเข้าด้วย และในแต่ละสินค้าจะมีกฎหมายเฉพาะสินค้า หรือที่เรียกว่า Product Directives ซึ่งให้รายละเอียดข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละสินค้า (technical specifications) ที่กำหนดขึ้นมาจากมาตรฐานความสอดคล้อง (Harmonized Standards) ขององค์การมาตรฐานต่างๆ ในยุโรป อาทิ European Committee for Standardization (CEN), European Committee for Electrotechnical Standardization (CENELEC) เป็นต้น โดยสินค้าที่ต้องมีเครื่องหมาย CE มีดังนี้


 1 ระบบและอุปกรณ์เกี่ยวกับการจัดการจราจรทางอากาศ ซึ่งรวมถึงระบบการสื่อสาร ระบบการตรวจสอบ
ระบบการให้ความช่วยเหลืออัตโนมัติในการควบคุมการจราจรทางอากาศ และระบบการให้ทิศทาง รายละเอียดปรากฏใน Directive 93/65/EEC ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537
2 อุปกรณ์เครื่องใช้ที่จุดไฟโดยใช้แก๊ส ซึ่งหมายถึงเครื่องใช้ทุกชนิดที่ใช้ในการทำอาหาร ทำความร้อน ผลิตน้ำร้อน ตู้เย็น แสงสว่าง หรือซักล้าง และที่ซึ่งระดับอุณหภูมิของน้ำไม่เกิน 105 องศาเซลเซียส รายละเอียดปรากฏใน Directive 90/396/EEC ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน มกราคม 2539
3 ระบบการติดตั้งเคเบิลสำหรับบรรทุกผู้โดยสาร รายละเอียดปรากฏใน Directive 2000/9/EC แต่ยังไม่มี
ผลใช้บังคับทางกฎหมาย
4 อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้า หรือโวลต์ต่ำ ซึ่งรวมถึง อุปกรณ์ที่ถูกออกแบบสำหรับการใช้กับระดับแรงดันไฟฟ้าระหว่าง 50-1,000 โวลต์ หรือ 75-1,500 โวลต์ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากที่ใช้ภายในประเทศและเชิงพาณิชย์ รายละเอียดปรากฏใน Directive 73/23/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2540
5 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง รายละเอียดปรากฏใน Directive 89/106/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่
เดือนมิถุนายน 2534
6 อุปกรณ์และระบบป้องกันสำหรับการใช้ในบรรยากาศที่อาจเกิดการระเบิด ซึ่งหมายถึง เครื่องจักรหรือ
อุปกรณ์ที่สามารถทำให้เกิดการระเบิดผ่านแหล่งกำเนิด ที่ทำให้เกิดการเผาไหม้และระบบป้องกันนี้ถูกออกแบบให้สามารถระงับการระเบิดนั้นได้ รายละเอียดปรากฏใน Directive 94/9/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2546
7 วัตถุระเบิดสำหรับพลเมืองใช้ ซึ่งถูกนิยามรายละเอียดในเอกสารข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติว่า
ด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย รายละเอียดปรากฏใน Directive 93/15/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2546
8 ภาชนะหุงต้มน้ำร้อน (ปริมาณระหว่าง 4 กิโลวัตต์ ถึง 400 กิโลวัตต์ เผาไหม้โดยของเหลวหรือเชื้อเพลงแก๊ส) รายละเอียดปรากฏใน Directive 92/42/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2541
9 ตู้เย็นและเครื่องทำความเย็นใช้ภายในครัวเรือน รายละเอียดปรากฏใน Directive 96/57/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่ เดือนกันยายน 2542
10 ลิฟต์สำหรับขนผู้โดยสารหรือสินค้า รายละเอียดปรากฏใน Directive 95/16/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2542 
11 เครื่องจักรกลทุกชนิดที่มีส่วนประกอบใช้ในการแปรรูป รักษา เคลื่อนย้าย หรือการบรรจุหีบห่อวัสดุรายละเอียดปรากฏใน Directive 1998/37/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่ เดือนมกราคม 2538
12 อุปกรณ์เกี่ยวกับการเดินเรือ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ รายละเอียดปรากฏในDirective 96/98/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2541 
13 เครื่องมือทางการแพทย์ หมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการวินิจฉัย การ ป้องกัน การติดตาม การรักษา หรือการบรรเทาโรค การบาดเจ็บ หรือความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งรวมถึงการทดแทนแขนขา หรือข้อต่อ และการคุมกำเนิด รายละเอียดปรากฏใน Directive 93/42/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่ เดือนมกราคม 2541
14 เครื่องมือทางการแพทย์เกี่ยวกับการฝังที่มีลักษณะเป็นกัมมันตภาพรังสี ซึ่งรวมถึงเครื่องมือที่อาศัยแหล่งพลังงานไฟฟ้า หรือ แหล่งพลังงานอื่นๆ นอกเหนือไปจากที่ผลิตได้โดยตรงจากร่างการมนุษย์ รายละเอียดปรากฏใน Directive 90/385/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538
15 เครื่องมือทางการแพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค หมายถึง เครื่องมือที่ ใช้ในการตรวจสอบสิ่งต่างๆ เช่น เลือด เนื้อเยื่อจากร่างกายมนุษย์ รายละเอียดปรากฏใน Directive 98/79/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 
16 เครื่องชั่งแบบไม่อัตโนมัติ หมายถึง เครื่องชั่งที่ต้องมีผู้ควบคุมเครื่องใน กระบวนการชั่ง รายละเอียดปรากฏ
ใน Directive 90/384/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2546
17 อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล หมายถึง เครื่องมือใดๆ ที่บุคคลใช้ใน การป้องกันความปลอดภัยหรือต่อต้าน
สิ่งที่เป็นอันตราย รายละเอียดปรากฏใน Directive 89/686/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2538
18 อุปกรณ์เกี่ยวกับแรงดัน ซึ่งรวมถึงท่อ หรืออุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และอุปกรณ์/ส่วนประกอบเกี่ยวกับแรงดันทุกชนิด รายละเอียดปรากฏใน Directive 97/23/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2545
19 อุปกรณ์เกี่ยวกับวิทยุ และอุปกรณ์เกี่ยวกับสถานีโทรคมนาคม รายละเอียดปรากฏใน Directive1999/5/EC ซึ่งในแต่ละตัวสินค้ามีผลใช้ บังคับทางกฎหมายในระยะเวลาที่แตกต่างกัน
20 เรือขนาดความยาวของลำเรือตั้งแต่ 2.5 – 24 เมตร ที่ใช้สำหรับการ กีฬา หรือ การพักผ่อนรายละเอียดปรากฏใน Directive 95/25/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2541
21 ท่อแรงดัน ซึ่งรวมถึงท่อเชื่อมโลหะที่นำมาใช้บรรจุอากาศ หรือ ไนโตรเจน ณ ความดันที่เกินกว่า 0.5 บาร์รายละเอียดปรากฏใน Directive 87/404/EEC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2535
22ของเล่น หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบและทำให้สำหรับเด็กอายุ ไม่เกิน 14 ปีเล่น รายละเอียดปรากฏใน Directive 88/378 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน มกราคม 2533
23 ระบบรถไฟภายในยุโรป รายละเอียดปรากฏใน Directive 96/48/EC ซึ่งยังมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539


นอกจากนี้ สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการออกกฎระเบียบเครื่องหมาย CE สำหรับสินค้าโลหะมีค่า และ หลอดไฟเรืองแสง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว EU Directives จะให้ระยะเวลาผ่อนผันกับผู้ประกอบการในการ ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎระเบียบนั้น แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันแล้ว ผู้ผลิตจะต้องใช้เครื่องหมาย CE กำกับ บนสินค้า จึงจะสามารถวางขายได้ในตลาดยุโรป


ขอบคุณข้อมูลจาก cyn.co.th