ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระกฤษณะ : วันประสูติ และการบูชารัก

ในคัมภีร์ปุราณะ มหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ และตำนานเก่าต่างๆ ของอินเดีย รวมถึงคัมภีร์ทางศาสนาฮินดูอื่นๆ ได้บันทึกและกล่าวถึงไว้ว่า พระวิษณุเทพได้อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่เหล่ามวลมนุษย์ทั่วไป ในช่วงเหตุการณ์โลกเกิดกลียุคและเกิดความไม่สงบสุขจากเหล่าอสูร จึงทรงอวตารลงมาในปางต่างๆ ซึ่งปางพระกฤษณะเทพเป็นปางหนึ่งในการอวตาร 10 ปาง ของพระวิษณุเทพนั่นเอง 

ลัทธิไวษณพนิกาย กล่าวไว้ว่าพระกฤษณะเกิดมาเพื่อทำลายอสูร ชื่อกังสะ ซึ่งเป็นลุงของพระกฤษณะเอง อสูรกังสะตนนี้ปลอมตัวมาเป็นกษัตริย์นามว่า อุคราเสน แห่งเมืองมถุรา และได้ใช้อำนาจแย่งชิงมเหสีจากกษัตริย์ (องค์ก่อนหน้า) มาโดยมิชอบ และมเหสีก็ทรงไม่ทราบว่าเป็นอสูรที่แปลงกายมาเป็นสวามีของตน 
อสูรกังสะเมื่อขึ้นครองเมืองก็สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป ต่อมาเมื่อพระวิษณุเทพทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงทรงอวตารมาในปางพระกฤษณะเพื่อปราบอสูรกังสะตนนี้



ลักษณะทางศิลป์ ปัจจุบันรูปปั้นนิยมทำรูปพระกฤษณะยืนไขว้ หรืองอพระบาท มี ๒ กร ยกขลุ่ยระดับพระโอษฐ์กำลังเป่าขลุ่ย บางรูปของพระกฤษณะ มีลักษณะผมมุ่นเสียบดอกไม้ มือซ้ายถือดอกบัว มือขวาวางข้างตัว ส่วนด้านซ้ายของพระองค์มีนางราธิกา หรือ ราธา ทรงผมยาว มือขวาถือดอกไม้ส่วนมือซ้ายวางข้างตัว



พระกฤษณะนั้นเป็นบุตรของ พระวสุเทพ(โอรสท้าวศูรราช)และนางเทวกี (บุตรีท้าวอุคระเสน) ในนครมถุรา ครั้งเมื่อนางเทวกีตั้งครรภ์ มีโหรทำนายว่า ทารกในครรภ์นั้น จะเป็นผู้วิเศษมาเกิด พญากงส์ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางเทวกี (ซึ่งครองอำนาจด้วยการกบฎต่อจากบิดา และเชื่อคำทำนายว่าบุตรนางเทวกี จะเป็นผู้สังหารตน) จึงจับนางเทวกีและพระวสุเทพ รวมทั้งท้าวอุคระเสน ผู้เป็นบิดาขังเอาไว้ 
เมื่อครบกำหนดคลอดก็สั่งให้ฆ่าทารกเสีย ทำเช่นนี้อยู่ 6 ครั้ง คนที่ 7 แท้ง จนถึงครั้งที่ 8 (ที่จะกำเนิดเป็นพระกฤษณะ) พระวิษณุใช้อิทธิฤทธิ์ย้าย ทารกไปไว้ในครรภ์ นางโหริณีมเหสีฝ่ายซ้ายของพระวสุเทพ ทารกนี้มีนามว่า พระ กฤษณะ มีกายสีดำ มีลักษณะของมหาบุรุษเพียบพร้อม 

พระวสุเทพจึงนำกุมารนี้ไปฝากโคบาล (ผู้เลี้ยงวัว ทำปศุสัตว์)ชื่อนันทะ และนางยโศธา แล้วเอาทารกของนาง ยโศธาเปลี่ยนตัวแทนแต่พญากงส์ทราบเข้าจึงสั่งให้ฆ่าทารกเสียทั้งหมดแล้วให้ ราชบุรุษจับตัวพระกฤษณะมาให้ได้ นันทะและนางยโศธา จึงพาพระกฤษณะ ไปอยู่ที่ตำบล พฤนทาพน 




พระกฤษณะจึงเติบโตท่ามกลางหมู่โคบาล และให้ความอนุเคราะห์เหล่าโคบาลนี้ ระหว่างนั้นได้แสดงปาฏิหารย์มากมาย อย่างเช่น ยกภูเขาโควรรธนะ จนสามารถมีชัยเหนือพระอินทร์ จนได้ชื่อว่า อุเปนทร = ดีกว่าพระอินทร์ รวมถึง ปราบพญานาค กาลียะ ฯลฯ 


พญากงส์พยายามที่จะสังหาร พระกฤษณะหลายครั้ง ในที่สุดพญากงส์เชิญให้ไปเล่นสรรพกีฬา ในเมืองมถุรา พญากงส์ได้วางตัวมวยปล้ำที่เก่งที่สุดเอาไว้เพื่อกำจัดพระกฤษณะ โดยเฉพาะ แต่พระกฤษณะสามารถเอาชนะได้และได้ฆ่าพญากงส์ตาย จากนั้นพระเจ้าอุคระเสนจึงขึ้นครองเมือง



กฤษณะจัณมาสตามิ (Krishna Janmashtami) 
หรือ ที่รู้จักกันในหลายชื่อต่อไปนี้ Krishnashtami, Saatam Aatham, Gokulashtami, Ashtami Rohini, Srikrishna Jayanti, Sree Jayanthi หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘Jammashtami’ เป็นเทศกาลของชาวฮินดูเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดพระกฤษณะ (Lord Krishna) ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เทศกาลนี้มักจะอยู่ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม-กลางเดือนกันยายน (วันแรม 8 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี)

ดังนั้นในตอนเที่ยงคืน รูปบูชาของพระกฤษณะในตอนเด็ก จะถูกนำไปสรงน้ำ ตกแต่งประดาประดาด้วยเสื้อผ้า และเครื่องประดับสวยงาม แล้วนำมาวางในเปล เพื่อทำการสักการะบูชา ในตอนเช้าบรรดาแม่บ้านทั้งหลาย จะวาดโครงเท้าของลูกที่ด้านนอกบ้านแล้วโรยด้วยผงแป้งที่ทำจากข้าว แล้วให้ลูกเดินเข้ามาในบ้าน เป็นสัญลักษณ์ของการเข้ามาของพระกฤษณะในบ้านอุปถัมภ์ของพวกเขานั่นเอง ในยามค่ำคืนซึ่งก็มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่


ในอินเดีย เทศกาลนี้รู้จักกันดีในอีกชื่อคือ ดะฮี ฮันดี (Dahi handi) คำว่า ฮันดี (handi) หมายถึง หม้อดินเผาที่บรรจุนมเปรี้ยวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ดะฮี (Dahi) ซึ่งจะถูกแขวนไว้บนที่สูงก่อนจะถึงงานพิธีสำคัญ บุคคลที่สำคัญที่สุดในสังคมจะใช้ไม้ทุบหม้อฮันดีนี้ให้แตก และเมื่อหม้อแตกนมเปรี้ยวนั้นจะหกใส่ทุกคนเบื้องล่าง เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จที่ผ่านความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน




เทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน ก่อนวันสำคัญนี้ชาวฮินดูจะงดอาหาร หรือถือศีลอดหนึ่งวัน และจะออกจากศีลอดในตอนเที่ยงคืน ซึ่งจะมีการฉลองสำคัญขึ้น 


ในวันนี้หม้อดินเผาจำนวนมากจะถูกนำมาแขวนไว้ในที่ ต่างๆ ทั่วเมือง กลุ่มวัยรุ่นที่เรียกว่า โกวินธา (Govinda) จะขึ้นรถบรรทุกท่องไปทั่วเมืองเพื่อไปต่อตัวกันดึงหม้อที่แขวนไว้บนที่สูงลง มา ภายในหม้อมีนมเปรี้ยวดะฮีบรรจุอยู่ ก็จะหกรดใส่ผู้ที่ต่อตัวกัน แถมในหม้ออาจมีเงินรางวัลให้ด้วย และมีหม้อฮันดีดังกล่าวนี้หลายพันใบแขวนไว้ตามชุมชนต่างๆ ซึ่งก็สร้างความสนุกสนานทั้งกลุ่มวัยรุ่นและผู้ชมที่ลุ้นอยู่โดยรอบ



ชาวฮินดูทั้งประเทศนอกจากถือศีลอดแล้ว ยังท่องสวดประวัติและคำสอนของพระกฤษณะ ที่เป็นบทโศลกในภควัตคีตา อีกทั้งวัดของพระกฤษณะทุกแห่งจะประดับประดาอย่างสวยงาม และเด็กๆ จะแต่งตัวเป็นพระกฤษณะและนางราธิกา หรือ ราธา  (Radhika , Radha – นางอันเป็นที่รักของพระองค์) ในวัยเด็ก มีการแสดงละครชีวิตของพระกฤษณะโดยเฉพาะในวัยเด็ก พอถึงเที่ยงคืนซึ่งเชื่อว่าเป็นเวลาประสูติของพระองค์ มีพิธีที่เรียกว่า “อารตี (aarti)” จะมีการเตรียมขนมหวานและอาหารจานพิเศษสำหรับผู้ที่ออกจากศีลอดในช่วงเวลานี้ ด้วย  



อีกมุมหนึ่งของพระกฤษณะ : แง่มุมความรัก

ตำนานรักของพระกฤษณะ และ พระนางราธิกา หรือ ราธา ทั้งสององค์สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กๆ เลี้ยงดูแลวัวมาด้วยกัน นั่นทำให้เกิดความรู้สึกรักกันและจะรอกันตลอดไป  
พระลักษมีรวมเอาความรักระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย บิดามารดากับบุตร เพื่อนกับเพื่อน และหนุ่มสาวเข้าด้วยกันไว้ในองค์เดียวกัน หมายความว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในความรัก จะต้องรักผู้อื่นให้ได้อย่างที่บิดามารดาพึงรักบุตร อย่างผู้ใหญ่พึงมอบให้ผู้น้อย อย่างเพื่อนพึงมอบให้เพื่อน และอย่างชายหญิงพึงมอบแก่กันและกัน  
- แม้พระกฤษณะจะมีชายาถึง 16,108 นาง
- แม้นางราธาจะมีสามีอยู่ก่อนแล้ว

- แม้บางท่านจะบอกว่านางราธารักพระกฤษณะแบบเทิดทูนมากกว่าเชิงชู้สาว






แม้พระกฤษณะจะมีเมียมากมายและแต่งงานหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็เล่ากันว่าพระองค์มีพระนางราธาอยู่ในใจเสมอและรักมากที่สุด และพระนางราธาก็รักพระกฤษณะอย่างสุดหัวใจและรอพระกฤษณะเสมอ ทำให้เราเห็นรูปเคารพขององค์พระกฤษณะคู่กับพระนางราธาอยู่บ่อยครั้ง  


พระกฤษณะได้เดินทางไปปราบอสูรหลายครั้ง ในที่สุด พระองค์ก็ได้ออกไปหาทำเลสร้างเมืองใหม่

โดยให้พระวิศวกรรมเนรมิตเมืองให้เสร็จภายในคืนเดียว จากนั้นย้ายตระกูลยาฑพออกไปยังเมืองใหม่ นามว่า "ทวารกา"

เมื่อย้ายมาอยู่เมืองทวารกาแล้ว พระกฤษณะก็ออกเสาะแสวงหาชายาให้กับพระองค์เองและพระพลราม

พระพลรามได้แต่งงานกับ นางเรวาตี (Revati) ส่วนพระกฤษณะเข้าพิธีแต่งงานกับ นางรุกมินี (Rukmini) แต่ก่อนหน้านั้น ก็ต้องต่อสู้กับ "รุกมา"และ "สีสุปาละ" พี่ชายของนางรุกมินี ซึ่งเป็นญาติของพระกฤษณะ และหมายปองนางรุกมินีเช่นกัน
หลังการแต่งงาน พระกฤษณะก็ยังต่อสู้กับอสูรอื่นๆ อีกมากมาย และได้ชายามาอีก 7 องค์ เช่น
นางชามภวาตี (Jambavati) บุตรีของชามภูวาล ผู้เป็นกษัตริย์แห่งหมี 
นางสัตยภามา (Satyabhama) ธิดาของสัตราชิต
นางกัลลินดิ (Kalindi) ธิดาของพระอาทิตย์ 

และชายาอีก 4 องค์จากการปราบปรามอสูรตนอื่นๆ


เมื่อได้เวลาอันสมควร ก็ถึงกาลที่พระกฤษณะจะกลับไปยังไวกูณฐ์สถานของพระองค์




เหตุการณ์มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง หมู่กษัตริย์ยาฑพเมาสุรา ทะเลาะวิวาทปลงพระชนท์กันเอง พระกฤษณะพยายามห้ามปราม แต่ก็ไม่เป็นผล พระองค์จึงหลบหนีเข้าไปในป่า บังเอิญขณะนั้น มีพรานป่าออกล่าสัตว์ พรานผู้นั้นสำคัญผิดว่าพระกฤษณะเป็นสัตว์จึงยิงพระองค์ด้วยธนูถูกที่ "ข้อเท้า" อันเป็นจุดชีวิตของพระกฤษณะ จนสิ้นพระชนม์


เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระกฤษณะล่วงรู้ไปถึงในเมือง พระวสุเทวะ นางเทวากี ตลอดจนนางโรหินีก็สิ้นพระชนม์ตามไปด้วย จากนั้นไม่นานก็เกิดน้ำท่วมใหญ่จนเมืองทวารกา จมหายไปในที่สุด

บ้างเชื่อว่าบูชาพระกฤษณะ เสมือนการบูชาความรัก 


แล้วอะไรคือความรักที่ดีล่ะ? คำตอบที่มีอยู่ในบทสวดบูชาพระลักษมี คือ ความซื่อสัตย์ ความเมตตากรุณา ความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว 

บ้างขอพร หรือบูชา เพื่อขอให้มีความรักที่งดงาม แท้จริง





ความเห็นส่วนตัว [ Natt C. ] : รวมรวม ปรุงแต่ง จากหลากหลายแหล่งที่มา เอาเป็นว่าขอบคุณทุกๆต้นฉบับ ที่หยิบมาทั้งบางส่วน ทั้งประโยค และทั้งย่อหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น